หญ้าหวานมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Stevia อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) ป็นพืชที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลและปารากวัย ซึ่งชาวปารากวัยมีการใช้ใบหญ้าหวานผสมกับชาดื่มมานานกว่า 1500 ปีแล้ว หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20 -26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดีเมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 – 700 เมตร มีการนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือทางภาคเหนือ และบริเวณเขาใหญ่ หญ้าหวานเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ 30 – 90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา ใบหญ้าหวานสด สกัดด้วยน้ำได้สารหวานแห้งประมาณร้อยละหนึ่ง เรียกว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) [1]

สตีวิโอไซด์ (Stevioside)

เป็นสารที่ให้รสหวานแทนน้ำตาล สกัดได้จากต้นหญ้าหวาน มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana bertoni มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ดูดคววามชื้นได้ดี มีความหวานประมาณ 280-300 เท่า ของน้ำตาลทราย ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร มีข้อดีเหนือกว่าน้ำตาลหลายอย่าง เช่น ไม่ทำให้อาหารเกิดสีน้ำตาล เมื่อผ่านความร้อนสูงๆ ไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เพราะฉะนั้น เมื่อใช้กับอาหาร จึงไม่ทำให้เกิดการบูดเน่า และประการสำคัญที่สุด คือ ไม่ถูกดูดซึมในระบบการย่อย ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานต่ำ (ประมาณร้อยละ 0-3 แคลอรี่) ฉะนั้นจึงเหมาะที่จะใช้เป็นสารให้ความหวาน กับอาหารสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ นอกจากนั้นสตีวิโอไซด์ยังมีคุณสมบัติ ทนต่อความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส โดยไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหารและทนต่อกรด จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ค่อนข้างแพร่หลาย เช่น ทำหมากฝรั่ง ลูกกวาด เครื่องดื่ม ไอศกรีม แยม เยลลี่ มาร์มาเลด ไม่เพียงแต่ใช้กับอาหารเท่านั้น ยังได้นำสตีวิโอไซด์ ไปใช้แทนน้ำตาล ในการผลิตยาสีฟันอีกด้วย [2]

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้อนุญาตให้มีการใช้สาร Steviol glycosides ได้เมื่อปลายปี 2554 ตามกฎระเบียบ Commission Regulation (EU) No 1131/2011 โดยได้กำหนดระดับสูงสุดของการใช้สาร Steviol glycosides (E 960) ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆเอาไว้ อาทิ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต แยม ลูกอม หมากฝรั่ง

อย่างไรก็ดี EU ยังไม่อนุญาตให้มีการใช้สาร Steviol glycosides ในอาหารบางกลุ่ม เช่น บิสกิต ขนมอบหรือของหวานที่ทำจากธัญพืช เนื่องจากผู้บริโภคอาจได้รับสารดังกล่าวเกินกว่าระดับที่ควรบริโภคได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake: ADI) [4]

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

[1] http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/crticle/107/หวาน -ธรรมชาติ-เพื่อสุขภาพ/

[2]http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15566&id_L3=561

[3] http://www.vcharkarn.com/varticle/41129

[4] http://www2.thaieurope.net